08/12/2024

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ รับหนังสือสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า วอนรัฐบาลแก้ไขแก้กฎหมาย ลดความขัดแย้ง รัฐ-ประชาชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

S__1335633_0

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ รับหนังสือสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า วอนรัฐบาลแก้ไขแก้กฎหมาย ลดความขัดแย้ง รัฐ-ประชาชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

 

 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และผู้เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมารับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า ซึ่งรวมตัวชุมนุมกว่าหลายพันคน บริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่


.
นายประเสริฐ ยืนยันการรับทราบปัญหาและรับหลักการของสมัชชาคนอยู่กับป่าและพี่น้องประชาชน เพื่อนำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี และจะนำสู่กระบวนการขั้นตอนการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมต่อไป ภายใต้บังคับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการดำเนินการตามบันทึกนี้ จึงได้ลงนามบัณทึกไว้


.
โดยการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้นอกจากจะมุ่งเน้นการพัฒนาภาคเหนือแล้ว ยังเป็นเวทีสำคัญในการรับฟังปัญหาจากประชาชนโดยตรง โดยข้อเรียกร้องจากกลุ่มสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  พ.ศ. 2567

และร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวม 2 ฉบับ จะส่งผลกระทบกับประชาชนที่มีที่ทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 462,444 ครัวเรือน หรือ 1,849,792 คน และจะส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างรัฐกับชุมชนคนอยู่ในป่ามากยิ่งขึ้น


.
สำหรับข้อเสนอของสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่าที่ยื่นต่อรัฐบาลมี 4 ประการ ดังนี้ 1.ขอให้ยุติการนำ พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย


.
2.ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เป็นรายอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทุกๆ พื้นที่ี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ภายในระยะเวลา 60 วัน


.
3.ขอให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีจะต้องเร่งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ให้นำเสนอร่างสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี ภายใน 90 วัน ก่อนเสนอเข้าสภา


.
4.ในระหว่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับ รัฐบาลจะต้องชะลอยับยั้งการเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับแล้วเสร็จ  เว้นแต่ในกรณีที่พื้นที่เตรียมการฯ นั้นดำเนินการกันขอบเขตชุมชน พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชนแล้วเสร็จ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

///////////

ข่าวที่น่าติดตาม