05/10/2024

ประกันสังคม เร่งประชุมหารือผ่านระบบ Zoom ร่วมกับสถานพยาบาล รับมือโอมิครอน เตรียมพร้อมจัดระบบบริการทางการแพทย์ดูแลผู้ประกันตนติดเชื้อโควิด อย่างเต็มที่ และทันท่วงที

ประกันสังคม เร่งประชุมหารือผ่านระบบ Zoom ร่วมกับสถานพยาบาล รับมือโอมิครอน เตรียมพร้อมจัดระบบบริการทางการแพทย์ดูแลผู้ประกันตนติดเชื้อโควิด อย่างเต็มที่ และทันท่วงที

 

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบ Zoom ร่วมกับผู้แทนและบุคลากรทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมจำนวนกว่า 50 แห่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม


นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวกับสื่อมวลชนว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรโน 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่กำลังระบาดทั่วโลกในขณะนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ไอมิครอนแล้วกว่า 2 พันราย ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกันตน จึงกำชับให้สำนักงานประกันสังคม เตรียมแผนรับมือต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในทุกด้านหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ประกันตนที่ป่วยติดเชื้อโควิด – 19 ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น

โดยในวันนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้จัดให้มีการประชุมผ่านระบบ vdo Conference โดยคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 หารือร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ได้รับการดูแล และรักษาได้ทันที โดยมีประเด็นการประชุมฯ พร้อมแผนมาตรการรองรับร่วมกับสถานพยาบาล ในด้านการใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนกรณีการติดโควิด – 19 ให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล และสถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยทุกแห่ง กรณีที่สถานพยาบาลตามสิทธิฯ และสถานพยาบาลที่รับรักษา ไม่สามารถให้การรักษาได้หรือเกินศักยภาพในการรักษา จะทำการส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า

กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลรักษา ในสถานพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, Hospitel, Community Isolation, Home Isolation ตามแนวทางและระบบบริการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้านการเตรียมความพร้อมให้สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มีแผนรองรับการรักษาผู้ประกันตน โดยจัดหาเตียงให้เพียงพอต่อสถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยให้สถานพยาบาลจัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ป่วยที่อาการแสดงน้อย หรือไม่แสดงอาการ (สีเขียว) เข้ารับการรักษา ในระบบ Hospitel และ Home Isolation ซึ่งในปัจจุบันมี สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มี Hospitel จำนวนทั้งสิ้น 12,856 เตียง และจำนวนเตียงว่างคงเหลือ 3,230 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565) อีกทั้งสำนักงานประกันสังคม ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับ สปสช. ในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีแสดงอาการเล็กน้อย (สีเขียว) และประสงค์เข้ารักษาในระบบ Home Isolation โดยผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด


นอกจากนี้ยังมี โครงการ Factory Sandbox ในการตรวจ รักษา ควบคุม ดูแลในสถานประกอบการเพื่อการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยมุ่งเน้นไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ คือ ตรวจ : ดำเนินการตรวจคัดกรองด้วย RT – PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจSelf – ATK ทุกสัปดาห์ รักษา : ให้โรงงานจัดให้มีสถานรักษาพยาบาลขึ้นสถานแยกกัก (Factory Isolation : FAI, และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและห้องผู้ป่วยวิกฤต สำหรับผู้ป่วยสีแดง ดูแล : ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงานโดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้องออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ควบคุม : ให้นายจ้างและแรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด


เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจคัดกรองโรค COVID-19 กรณีตรวจคัดกรองใน รพ. /ตรวจคัดกรองนอก รพ.โดยหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. โดยผู้ประกันตนคนไทยเบิกเงินจาก สปสช. ผู้ประกันตนคนต่างชาติ เบิกเงินจาก สำนักงานประกันสังคม กรณีตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการ ตามโครงการของสำนักงานประกันสังคมโครงการ Factory Sandbox เพื่อค้นหาผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและมีการแพร่ระบาดและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อ เบิกเงินจากสำนักงานประกันสังคม สำหรับค่าใช้จ่าย ในการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐบาล มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน มีอาการรุนแรง (สีแดง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 7,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน กรณีมีอาการเล็กน้อย(สีเขียว) ดูแลรักษาโรงพยาบาลสนาม Hospitel Hotel Isolation ตั้งแต่ 1 ม.ค.65จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน และค่าอุปกรณ์ในการดูแลติดตามสัญญาณชีพ 500 บาทต่อวัน ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาทต่อราย ดูแลรักษาแบบ Home Isolation และการแยกกักในชุมชน Community Isolation ค่าดูแลให้บริการผู้ป่วย สำหรับค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา ค่ายาพื้นฐาน จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่รวมค่าอาหาร 3 มื้อในอัตรา 600 บาทต่อวัน /รวมค่าอาหาร 3 มื้อ ในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน กรณีรักษาในสถานพยาบาลเอกชนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ตามราคากลางประกาศกระทรวงสาธารณสุข สำหรับค่ารถรับส่งผู้ป่วย กรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกัน จ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่น จ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะ ไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับบุคลากรที่จัดการศพผู้เสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 เหมาจ่าย 2,600 บาทต่อราย
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้พี่น้องลูกจ้าง/ผู้ประกันตนโปรดปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ผู้ที่มีอาการหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด หากผลตรวจเป็นบวกให้กักตัวและงดการออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ แยกตัวเอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา และรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่มีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือ สำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน สามารถติดต่อใช้บริการได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 6 และกด 7 มีคณะทำงานประสานสถานพยาบาล Hospitel เพื่อเป็นช่องทางรองรับการให้บริการให้กับผู้ประกันตนได้เข้าถึงบริการและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีอีกด้วย

 

…………………………….………………………………
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ข่าวที่น่าติดตาม