ร้อยเอ็ด…เสกท่ามกลางสายฝน…พระครูวิมลบุญโกศล นั่งปรก อธิฐานจิตวัตถุมงคล “ปู่เผ้าเจ้าโฮงแดง” รายได้บูรณะเมรุวัดบ้านแมดโพธิ์กลาง สร้างพิพิธภัณฑ์ควายหลวงฯ

ร้อยเอ็ด…เสกท่ามกลางสายฝน…พระครูวิมลบุญโกศล นั่งปรก อธิฐานจิตวัตถุมงคล “ปู่เผ้าเจ้าโฮงแดง” รายได้บูรณะเมรุวัดบ้านแมดโพธิ์กลาง สร้างพิพิธภัณฑ์ควายหลวงฯ
วันนี้( 12 เมษายน 2568) เวลา 19.09 น. ณ มณฑลพิธีศาลปู่เผ้าเจ้าโฮงแดง บ้านแมด ตำบลเชียงขวัญ อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงพ่อพระครูวิมลบุญโกศล(บุญร่วม คชาธโร) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสายหลวงปู่มั่นภูริทตฺโต หลวงปู่ศรีมหาวีโร หลวงปู่เลื่อน สุกวโร เป็นประธานจุดเทียนชัยในพิธีมหาพุทธาภิเษกจัดสร้างวัตถุมงคล “ปู่เผ้าเจ้าโฮงแดง” รุ่นสมปรารถนา โดยมี นายคณพศ นิธิธนาพล นายอำเภอเชียงขวัญ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร สส.ร้อยเอ็ด เขต 2 ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น พี่น้องประชาชนเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย คนเฒ่าคนแก่ที่มาร่วมพิธีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านคงรับทราบและร่วมอนุโมทนาบุญในครั้งนี้
โดยการดลบรรดาลให้ฝนตกลงมาในพิธีเหมือนกับท่านได้ปะพรมน้ำมนต์ให้กับผู้ที่เข้าร่วมพิธีได้ชุ่มเย็นและเป็นมงคลยิ่ง (เป็นความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น)
(ปู่เผ้าเจ้าโฮงแดง) ที่ชาวบ้านนับถือ เทวดาอารักษ์ ผีฟ้า ผีแถน ผู้บันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อีกทั้งเพื่อการเกษตรกรรม การทำไร่ทำนา และคุ้มครองชาวบ้านคนในชุมชนให้มีความอยู่ดีกินดี ทั้งยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และการได้กลับมาตุ้มมาโฮมกันของบรรดาเครือญาติในวันงานอีกด้วย
ภายในชุมชน ก่อนถึงวันบวชควายจ่านั้น จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่า “มื้อออกเล่น” จะมีการส่งข่าวด้วยขบวนควายรอง เห่ขบวนไปยังหมู่บ้านต่างๆ เป็นการส่งข่าวงานบุญบั้งไฟที่กำลังจะมาถึง ซึ่งบุคลลที่จะเป็นควายจ่าตัวจริงและตัวรอง ต้องเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมาจากควายจ่าแต่เดิม นอกเสียจากจะขาดผู้สืบชื้อสายก็จะมีพิธีการเสี่ยงควายจ่าตัวใหม่ โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นควายจ่าจะทาตัวสีดำด้วยเขม่าก้นหม้อ (โบราณทาด้วยครามหม้อนิล) สวมหรือผูกด้วยเขาสี่ง่ามที่ศีรษะ คล้องตัวด้วยกระพรวนขนาดใหญ่หลายลูก
ภายในขบวนประกอบไปด้วยผู้ร่วมมากมาย เช่น ควายจ่าตัวรอง เจ้าของควาย คนเลี้ยงควาย นางหว่า มีกลุ่มผู้ถืออาวุธต่างๆ ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับขบวนควาย มีการประโคมจังหวะด้วยเครื่องดนตรี อาทิ กลองเลง ฉาบ ฆ้อง พังฮาด ฯลฯ
เมื่อขบวนควายจ่าไปถึงหน้าบ้านหลังใด จะมีผู้คนนำปัจจัยหลายๆ อย่าง อาทิ เงิน เหล้า น้ำอัดลม ซึ่งสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ ชุมชนจะเรียกว่า “หญ้า” โดยเงินหรือหญ้าจะใส่ไว้ให้ควายจ่าตัวรองคาบด้วยปาก ส่วนสิ่งของที่หนักกว่า อาจจะใส่ไว้ให้เจ้าของควายหรือนางหว้าที่แต่งตัวเป็นหญิงกางร่มและแบกคอนตะกร้า
นอกจากขบวนควายจ่าที่เรียกว่า “ควายหลวง” แล้ว ยังมีขบวนควายที่นิยมแห่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเล่นขบวนควาย แต่คนภายในชุมชนจะรับรู้ร่วมกันว่า กลุ่มหรือขบวนนี้ไม่ใช่ควายหลวง แต่ก็ให้ปัจจัยเหมือนกัน เพราะถือว่า นี่เป็นประเพณีที่ละเล่นสืบต่อกันมาเพียงปีละหนช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหกเท่านั้น
นี่คือพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรมที่ผูกสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้มีความรักความสามัคคี สร้างขวัญกำลังใจก่อนจะเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการเดินทางของชุมชนรอบข้างให้มีการรับรู้วิถีประเพณี สร้างความเข้มแข็งในหลายๆ เรื่องตามมาตราบเท่าปัจจุบัน
สำหรับมวลสารศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญในการจัดสร้างวัตถุมงคลในวาระนี้ประกอบด้วย พระสมเด็จกรุกเก่า แร่เหล็กไหล ผงมวลสารหลวงปู่ทวดเนื้อหว่าน ปี2497 + ปี2505 – ผงมวลสารพระผง+ขันน้ำมนต์หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว – ผงมวลสารหลวงปู่ทิมวัดละหานไร่ – ผงมวลสารพระรอดลำพูน – ผงมวลสารพระผงหลวงปู่สุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า – ผงมวลสารหลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ และผงมวลสารจากพระกรุต่างๆกว่า 200 องค์ ทั้งหมดเป็นมวลสารเก่าที่ใช้ในการจัดสร้างพระปิดตาพุฒซ้อน เสาร์ 5 ของหลวงพ่อพระครูวิมลบุญโกศลในวาระที่ผ่านมา รวมมูลค่ากว่า100 ล้านบาท
วัตถุประสงค์ในการสร้างวัตถุมงคล“ปู่เผ้าเจ้าโฮงแดง” รุ่นสมปรารถนา เพื่อให้ผู้ที่เคารพศรัทธา ลูกศิษย์ลูกหา และประชาชนทั่วไปได้เช่าบูชา/ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล รายได้เพื่อนำไปบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานภายในวัด ก่อสร้างเมรุวัดบ้านแมดโพธิ์กลาง ต.เชียงขวัญ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด และจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ควายหลวง ควายจ่า เพื่อเก็บรักษาของเก่าที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจให้กับลูกกับหลานและผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้สืบต่อไป
อนึ่งการจัดสร้างวัตถุมงคลในวาระดังกล่าว หลวงพ่อพระครูวิมลบุญโกศล ได้เมตตามอบหมายให้ลูกศิษย์สายบุญ ช่างจ่า ธนกร จันทะโยธา ช่างพระผงมือหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้สนองงานในครั้งนี้ สาธุ
สำหรับท่านที่สนใจ ศรัทธาต้องการที่จะเช่าหา-บูชา และทำบุญในวาดังกล่าวท่านสามารถติดต่อร่วมบุญ และ ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะกรรมการวัดบ้านแมดโพธิ์กลาง หรือนางสาวพัชรียา จันทะชำนิ (สท.อ้อน) เบอร์โทรศัพท์ 095-753-0561 นายดุสิต คำตอง กำนันตำบลเชียงขวัญ โทร 095-142-6766
โกสิทธิ์/ร้อยเอ็ด(ห)
081-377-2689