21/03/2025

ปทุมธานี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชม รพ.ปทุมธานี จัดอบรมการจัดการสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล

103185

ปทุมธานี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชม รพ.ปทุมธานี จัดอบรมการจัดการสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล

 

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.68 เวลา 08.00 น.จังหวัดปทุมธานี จัดการอบรมการจัดการสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ให้แก่ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครกู้ชีพ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยในจังหวัดปทุมธานี จำนวนรวม 300 คน ณ ห้องประชุมบงกชรัศมิ์ ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โรงพยาบาลปทุมธานี โดยมีกิจกรรมการบรรยาย เรื่องมาตรการการรักษาความปลอดภัย ในหน่วยงานบริการทางสาธารณสุข กรณีเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล และการ ฝึกซ้อม แนวทางการบริหารจัดการความปลอดภัยในโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะของบุคลากรในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในโรงพยาบาล

โอกาสนี้ นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาเป็นประธานเปิดการอบรม ในเวลา 11.00 น. โดยมี นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายแพทย์ภุชงค์ ไชยชิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นายแพทย์นินนาท มุขดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี

 

นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันเริ่มมีรูปแบบการใช้ความรุนแรงในสถานพยาบาลมากขึ้น สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องให้บุคลากรเกิดความปลอดภัย มีทักษะความสามารถในการระงับเหตุ การจัดอบรมนี้จึงมีความสำคัญมาก ในการจัดการสถานการณ์ความรุนแรงใน 2 ระดับ คือ ระดับแรกให้สามารถดูแลความปลอดภัยแก่บุคลากรภายในได้ในเบื้องต้น และหากสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่อง ก็ให้เกิดการประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น ตำรวจ เข้ามาช่วยระงับเหตุ ที่สำคัญบุคลากรต้องมีความพร้อม มีความรู้ความเข้าใจ และมีการฝึกซ้อมการระงับเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และครั้งนี้ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่จะขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้กระบวนการด้านสาธารณสุขมีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นแก่พี่น้องประชาชน

 

ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาลของประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปี 2565 พบว่าเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนและวันหยุดราชการ จากการศึกษาของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทย (2564) พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ กว่าร้อยละ 60 เคยประสบเหตุคุกคามหรือความรุนแรง ในระหว่างปฏิบัติงาน และร้อยละ 45 ของเหตุการณ์ เกิดจากญาติผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือไม่พอใจในการรักษา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ความรุนแรงในสถานพยาบาลเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

ข่าวที่น่าติดตาม