04/12/2024

นราธิวาส – พ่อค้าแม่ค้าตลาดเก็นติ้ง โก-ลก เดือดร้อนหนัก-หลังเจ้าของปรับราคาเช่า วอน! เจ้าของตลาดเห็นใจคนหาเช้ากินค่ำ

IMG_3966_0

นราธิวาส – พ่อค้าแม่ค้าตลาดเก็นติ้ง โก-ลก เดือดร้อนหนัก-หลังเจ้าของปรับราคาเช่า วอน! เจ้าของตลาดเห็นใจคนหาเช้ากินค่ำ

 

จากกรณีกลุ่มผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้า บริเวณตลาดเก็นติ้ง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้ร้องเรียนไปทาง สำนักงานอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนราธิวาส ถึงความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ประกอบการที่ตลาดเก็นติ้ง ภายหลังบริษัทส่งเสริมการตลาด จำกัด ทีมีนายสมโภชน์ หงษ์กิตติยานนท์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฯ ได้มีการปรับค่าเช่าและค่าต่อสัญญาที่สูงกว่าราคาเดิม ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนทั้งจากค่าเช่ารายเดือน และค่าต่อสัญญา นำไปสู่การร้องทุกข์ผ่าน นาย อามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.เขต 2 จ.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้นำประเด็นดังกล่าวนี้เข้าสู่สภาฯ เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ อีกทั้งกลุ่มผู้ประกอบการทั้งหมดได้เข้าร้องเรียนกับ นายอนิรุทร บัวอ่อน นายอำเภอสุไหงโก-ลก อีกด้วย


หลังจากนั้น นายอำเภอสุไหงโก-ลก และ ส.ส.อามินทร์ มะยูโซ๊ะ ได้เข้าพบ นายสมโภชน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทส่งเสริมการตลาด จำกัด เพื่อขอให้ปรับราคาใหม่ที่สูงกว่าราคาเดิมมาก ลงมาอีกหน่อย เพื่อที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะได้ไม่เดือดร้อนมากนัก อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่เริ่มซบเซา ทำให้ผู้ซื้อส่วนใหญ่หันไปใช้บริการจากร้านสะดวกซื้อและห้างดังที่เปิดตัวมาได้ประมาณ 1 ปีกว่า แทนการเดินย่ำในตลาดที่ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำเสียขังอยู่เป็นจุดๆ ทำให้อุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกัน ผู้ซื้อ-ผู้ขายเกิดช่องว่าง จนการซื้อขายในตลาดแห่งนี้สะดุด ไม่คล่องตัวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าว ได้รับคำยืนยันในราคาที่ปรับใหม่จากนายสมโภชน์ ว่าไม่สามารถปรับราคาลงได้ รวมทั้งระยะเวลาก็ยืดให้แบบชนเพดานแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พ.ย.67 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสนามกีฬามหาราช อ.สุไหงโก-ลก จ. นราธิวาส นาย เกียรติยศ ศักดิ์แสง รองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่พบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าตลาดเก็นติ้ง ด้วยตนเอง
โดยกลุ่มผู้ประกอบการตลาดเก็นติ้ง ได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ในการเรียกร้องต่อสำนักงานอัยการฯ จำนวน 7 ข้อ ดังนี้

1.ขอลดค่าต่อสัญญาเช่า 20 ปี และค่าเช่าที่ปรับใหม่ให้มีความเป็นธรรม ไม่ปรับขึ้นสูงจนเกินไป เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และขอผ่อนชำระค่าต่อสัญญาเป็น 18 งวด เนื่องจากตลาดเก็นติ้งจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง เคยเกิดเหตุความรุนแรงถึง 3 ครั้ง และยังเป็นเป้าหมายในทุกครั้งที่มีการแจ้งเตือนในเขตพื้นที่ชุมชน ส่งผลให้คนในพื้นที่หลีกเลี่ยงการเข้าตลาดแห่งนี้
2.ขอให้ทางบริษัทส่งเสริมการตลาด จำกัด แก้ไขข้อความในสัญญาเช่าฉบับใหม่ให้มีข้อความที่เป็นธรรมต่อผู้เช่า ไม่เอาเปรียบผู้เช่า
3.ผู้เช่าอาคารพาณิชย์ทั้งหมด “ขอคืนพื้นที่” ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลังของอาคารพาณิชย์ที่เช่าอยู่ ขอให้บริษัทส่งเสริมการตลาด จำกัด ย้ายแผงเเม่ค้าที่ตั้งกีดขวางอยู่ให้ย้ายออกไปอยู่ในตลาดสด
4.ขอให้ทางบริษัทส่งเสริมการตลาด จำกัด ปรับปรุงตลาดเก็นติ้ง ที่มีอายุ 30 ปี ที่มีสภาพทรุดโทรม ให้กลับมาสวยงาม สะอาดถูกหลักอนามัย พร้อมวางระบบท่อระบายน้ำใหม่ให้สามารถระบายของเสียได้มากขึ้น
5.ขอให้ดำเนินการปรับปรุงถนนในพื้นที่ตลาด เนื่องจากปัจจุบันสภาพถนนทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นท่อ
6.ให้มีการจัดระเบียบตลาดใหม่ ให้มีพื้นที่จอดรถสำหรับลูกค้าที่มาจับจ่าย พร้อมให้ติดป้ายพื้นที่ห้ามจอดตรงบริเวณที่กีดขวางการจราจร
7.ควรทำความสะอาดใหญ่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกที่ตกค้างและป้องกันการเเพร่พันธุ์ของหนูและยุง ซึ่งเป็นพาหะของโรค เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกอบการและผู้เข้ามาจับจ่าย

ทางด้าน นาย เกียรติยศ ศักดิ์แสง รองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.นราธิวาส กล่าวกับสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่บริเวณตลาดเก็นติ้ง ว่า เนื่องจากทางสำนักงานอัยการฯ ได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าที่ตลาดเก็นติ้ง ที่ได้ร้องทุกข์ผ่าน นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ และนายอนิรุทร บัวอ่อน นายอำเภอสุไหงโก-ลก จึงลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเดือดร้อนและรับข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ประกอบการฯ เพื่อที่จะดำเนินการตามกรอบของกฎหมายต่อไป
ทางด้านผู้ประกอบการ คุณ รุจิรา แจ่มจันทร์ ผู้ประกอบการขายผลไม้สด เป็นคนหนึ่งที่เดือดร้อน ให้สัมภาษณ์ว่า ที่เขามาคุยกันรวมตัวกันว่าจะหาข้อสรุปว่า เราขอให้เก็นติ้งประนีประนอมกับเราว่ายังไงบ้าง เพราะว่าเขาให้เวลาเราแค่ 18 งวด เราไม่ทันจ่าย (ขายมานานหรือยัง) แม่ขายมานาน 20กว่าปีแล้ว ตอนนั้นค่ารายวัน วันละ 35 บาท แต่ปัจจุบันเก็บวันละ 100 บาทต่อห้องและมีรายปี แต่แม่ต่อสัญญาแล้ว เพราะถ้าไม่ต่อ เขาจะฟ้องพวกเรา เขาแจ้งเราล่วงหน้าแค่ 1เดือน แจ้งปลายเดือนกันยา พอสิ้นเดือนตุลา ต้องจ่ายแล้ว ตอนแรกเขาจะเอาเราเลยทีเดียว 1 แสนห้าหมื่น 2 ห้องก็ 3แสน เราจะเอาเงินที่ไหน ตอนแรกเขาจะให้จ่าย 3 งวดซึ่ง 3 งวดไม่ทัน 6 งวดก็ไม่ทัน จนตอนนี้ให้ 18 งวด เราก็ยังไม่ทัน เรามีรายจ่ายนอกอีกเกือบ 1 หมื่น จ่ายค่ารถ ค่ากิน ค่าบ้าน เราค้าขายแต่ละวันยังไม่ถึงเลย.ก็อยากขอร้องช่วยอะลุ่มอล่วยกับพวกเราหน่อย อย่างแค่1 แสนห้า เราไม่เป็นไรแต่ขอเวลาให้พวกเราหน่อย.ในการผ่อนชำระ.และขอความกรุณาช่วยยกเลิกค่าเช่าที่ที่บอกว่าจะขึ้นทุกๆ 3 ปี

 

ต่อมาทีมผู้สื่อข่าวจากหลายสำนัก ได้เดินทางไปขอเข้าพบ นายสมโภชน์ หงษ์กิตติยานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทส่งเสริมการตลาด จำกัด เพื่อซักถามและรับฟังข้อชี้แจงจากอีกฝ่ายที่ถูกพาดพิงถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยนายสมโภชน์ ได้ชี้แจงว่า ทางบริษัทได้ทำสัญญาตามเงื่อนไขของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งสัญญาใหม่นี้ จะแตกต่างจากสัญญาเดิมคือ อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น จากเดิมสิทธิการเช่าอยู่ คูหาละ 2.5 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี พร้อมค่าเช่าที่ดิน เดือนละ 943 บาท ซึ่งจะเพิ่ม 5% ทุกปี จนครบ 30 ปี ในสัญญาฉบับใหม่ระบุว่า ผู้เช่าชำระค่าต่อสัญญา 20 ปี คูหาละ 500,000 บาท และผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าอาคารพร้อมค่าเช่าที่ดินเป็นรายเดือน ตามเงื่อนไขสัญญาที่เป็นระเบียบใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคิดค่าเช่าเดือนละ 4,200 บาท และปรับเพิ่ม 10% ทุก 3 ปี ส่วนอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น จากเดิมค่าเช่าอาคาร คูหาละ 1.5 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี โดยจ่ายค่าเช่าที่ดิน 1,037 บาทต่อเดือน และปรับเพิ่ม 5% ทุกปี แต่สัญญาฉบับใหม่ ผู้เช่าชำระค่าต่อสัญญา 20 ปี คูหาละ 450,000 บาท และจ่ายค่าเช่าอาคารพร้อมที่ดิน เดือนละ 3,800 บาท ปรับเพิ่ม 10 % ทุก 3 ปี

 
“ส่วนแผงซุ้ม 1 ชั้น จากเดิมชำระรายปี ปีละ 20,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี ค่าเช่าต่อวัน วันละ 54 บาท หรือเดือนละ 1,620 บาท แต่สัญญาใหม่ ผู้เช่าชำระค่าต่อสัญญา 20 ปี แผงละ 150,000 บาท อัตราค่าเช่าใหม่ปรับเป็นเดือนละ 3,000 บาท ปรับเพิ่ม 10% ทุก 3 ปี”
นอกจากนี้ นายสมโภชน์ ยังกล่าวลงลึกในรายละเอียดกับสื่อมวลชนอีกว่า สัญญาฉบับใหม่ ได้ขยายเวลาให้เป็น 1 ปี 6 เดือน ซึ่งชนเพดานเกินกว่าที่จะผ่อนปรนให้แล้ว เพราะสัญญาที่ทำกับการรถไฟฯ ทางบริษัทต้องชำระเงินครบตามสัญญา เมื่อขยายเวลาการผ่อนชำระ บริษัทต้องแบกภาระดอกเบี้ยจากเงินส่วนนี้ประมาณ 10 ล้านบาท และทางบริษัทจะมีกำไร 25 % เมื่อสิ้นสุดสัญญาในปีที่ 20 ไม่ใช่มีกำไร 25% ตั้งแต่วันทำสัญญากับผู้เช่า ในฐานะภาคเอกชนที่ต้องบริหารจัดการให้มีกำไรอย่างเหมาะสม โดยราคาที่กำหนดเป็นไปตามระเบียบของการรถไฟฯ ที่บริษัทได้บวกค่าบริหารจัดการที่เหมาะสมแล้ว ส่วนการปรับปรุงและพัฒนาตลาดมีการระบุในสัญญาที่บริษัททำกับการรถไฟอยู่แล้ว พร้อมดำเนินการให้
“เราต้องทำอยู่แล้ว หลังจากได้ต่อสัญญากันเรียบร้อย ผมก็จะลงมือ แต่ทุกท่านที่ไปร้องเรียน ต้องบอกว่าได้ทำสัญญากันหมดแล้ว ซึ่งบางรายไปล่ารายชื่อเพื่อพยายามจะกดดันเราและไปฟ้องเพื่อให้ผมไปต่อสัญญา ซึ่งผมตั้งใจที่จะไม่ต่อสัญญาให้กลุ่มนี้ เพราะเขามาสร้างปัญหาให้กับเรา อันไหนที่ยอมได้ก็ยอมกันไป เดี๋ยวความจริงก็จะปรากฏ สัญญาครั้งแรก ผมเก็บปีละ 200,000 บาท ถ้า 20 ปีก็คือ 400,000 บาท ส่วนซุ้มร้านค้าเก็บเขา 150,000 บาท ระยะเวลา 20 ปีและผมเก็บค่าเช่าเขาเดือนละ 3,000 บาทก็คือวันละ 100 บาทแต่เขาว่าแพง เขาร้องเรียนว่าเราไม่เห็นใจผู้ประกอบการ แต่ผมก็ช่วยในระดับที่ช่วยได้”

ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ข่าวที่น่าติดตาม