08/12/2024

ชลบุรี-ฝึกอาชีพคนพิการ ชายขอบถิ่นธุรกันดาร มีอาชีพ มีอุปกรณ์ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ไม่เป็นภาระสังคม

915437_0

สมาคมคนพิการภาคตะวันออก ยกห้องเรียนมาหาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการจังหวัดชายขอบถิ่นธุรกันดาร เพื่อฝึกอาหาเลี้ยงชีพครอบครัว ตามโครงการมาตรา 35

เมื่อ 6 ต.ค.67 ดร.ณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออกและอุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ผลักดันการฝึกอาชีพของคนพิการด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกายและผู้ดูแลคนพิการ ตามมาตรา 35 ให้คนพิการมีอาชีพมีรายได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกมองว่าเป็นภาระ ให้กลายเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายของ “มูลนิธิคนพิการภาคตะวันออก” ที่มุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ผู้พิการมีรายได้

โดยสมาคมคนพิการภาคตะวันออก ได้ยกห้องเรียนมาหาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ที่จังหวัด ชายขอบถิ่นธุรกันดาร จังหวัดบุรีรัมย์ ฝึกทำขนมเบเกอรี่ 600 ชั่วโมง อบรมตั้ง แต่วันที่ 20 พ.ค. – 20 พ.ย.67 ที่ศูนย์ฝึกอบรมสมาคมคนพิการด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกายบุรีรัมย์ อาคารเอนกประสงค์เทศบาลตำบลสองชั้น อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 76 คน ในระหว่างเรียนจะได้รับเบี้ยเลี้ยง วันละ 328 บาท อาหาร 3 มื้อ อาหารว่าง วัสดุอุปกรณ์ ฟรี เรียนจบจะได้รับเตาอบ และวัสดุอุปกรณ์ ฟรี โดยมีผู้ฝึกสอนที่ชำนาญงานจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเป็นครูผู้ฝึกสอน

และที่ศูนย์ฝึกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยจังหวัดสุรินทร์ อาคารเอนกประสงค์หมู่ที่ 16 ต.นาบัว อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เปิดสอนหลักสูตรช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ระดับต้น 600 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 20 พ.ค. ถึงวันที่ 20 พ.ย.67 ตามโครงการมาตรา 35 จำนวน 55 คน เรียนจนจบ จะได้รับจักรเย็บผ้า 1 ตัว พร้อมอุปกรณ์ตัดเย็บ นำไปทำอาชีพ ตัดเย็บเสื้อผ้า ซ่อมแซมเสื้อผ้า ระหว่างเรียนจะได้รับเบี้ยเลี้ยง วันละ 328 บาท อาหาร 3 มื้อ อาหารว่าง วัสดุอุปกรณ์ ฟรี เพื่อนำไปประกอบอาชีพด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ สมาคมคนพิการภาคตะวันออก ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ปิโตรเลียมไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด

จาก พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2556 สร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านคนพิการคือ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่ง พรบ. ฉบับดังกล่าว ได้กำหนดไว้ในมาตรา 33 ให้มีการจ้างงานคนพิการทำงานในสถานประกอบการ 100 คน ต่อ 1 คน โดยสถานประกอบการสามารถลดหย่อนภาษีสองเท่า และการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอํานวยความสะดวกหรือบริการในอาคารสถานที่ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน มาตรา 34 เป็นการส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับนายจ้างที่ไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการ ส่วนมาตรา 35 นายจ้างหรือสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงานในมาตรา 33 ไม่ประสงค์ส่งเงินเข้ากองทุนในมาตรา 34 ก็ให้นายจ้างหรือสถานประกอบการส่งเสริมให้คนพิการ ได้เข้าถึงเรื่องอาชีพตามมาตรา 35 สถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐนั้น อาจให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้า หรือจัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือจ้างเหมาบริการ โดยวิธีพิเศษ คือ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือความช่วยเหลืออื่นใด ก็ได้

ดร.ณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก และอุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่าตามโครงการฝึกอบรมตามมาตรา 35 คนพิการจึงมีโอกาส มีช่องทางในการมีรายได้ ทำให้ไม่เป็นภาระกับครอบครัวหรือสังคม คนพิการสามารถติดต่อกับองค์กรคนพิการที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ ได้ หรือสมาคมคนพิการทุกประเภท ประจำจังหวัด ถ้าไปหน่วยงานของรัฐ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดนั้นๆ ช่วยให้คำแนะนำให้คำปรึกษาได้

ซึ่ง ด.ร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ หากห้างร้าน บริษัท หรือหน่วยงาน ต่างๆ ไม่อยากจ้างแรงงานคนพิการตาม มาตรา 35 และไม่อยากเสียค่าปรับสามารถจะนำเงินจำนวนนี้ มาให้ทางสมาคมฯ ฝึกอาชีพคนพิการได้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของบริษัท ที่สร้างงานคนพิการไม่ได้เพราะว่าคนพิการตามจังหวัดชายขอบถิ่นธุรกันดาร ยังเข้าไม่ถึงโอกาสในการทำงานและไม่สามารถทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมได้ เพราะทุกคนมีภาระหน้าที่ มีบ้าน มีพ่อ แม่ ลูก ต้องดูแล เพราะฉนั้นโครงการฝึกงานตามมาตรา 35 ทางสมาคมผู้พิการภาคตะวันออก จึงได้ยกห้องเรียนมาให้ถึงที่ได้ฝึกอาชีพมีทำงานทำอยู่กับบ้านได้ โครงการฯ นี้ จึงเป็นโครงการแนวทางใหม่ เป็นทางเลือกสำหรับ บริษัท ที่จะช่วยเหลือคนพิการ เป็นการสร้าง CSR ให้ บริษัท เป็นการช่วยเหลือคนพิการได้โดยตรง ถ้าหาก บริษัท ห้างร้านที่ยังจ้างคนพิการไม่ครบตามจำนวน น่าจะลองใช้วิธีการนี้ เพื่อเป็นการทดแทนการจ้างงานคนพิการ

สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สมาคมคนพิการภาคตะวันออก โทรศัพท์ 081-6691111หรือ เวปไซด์สมาคมคนพิการภาคตะวันออก www.ead.or.th ทางสมาคมฯ จะดูแลด้านเอกสาร ลดขั้นตอนความยุ่งยากทุกขั้นตอน โดยทางบริษัท ไม่ต้องยุ่งยากในเรื่องการทำเอกสาร แต่อย่างไร
นางสาวเฉลา สุทัยรัมย์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการได้กล่าว ขอบคุณอาจารย์ณรงค์ และ บริษัทปิโตรเลียมไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้นําโครงการที่ดีมาให้คนพิการและผู้ดูแล ได้ฝึกอบรมอาชีพเพื่อจะได้มีความรู้ไปต่อยอดฝึกอาชีพที่บ้านได้ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี พอมาฝึกแล้วได้ความรู้ได้วิชาไปประกอบอาชีพที่บ้าน มีรายได้เข้ามาอีกทางหนึ่ง ได้ดูแลคนในครอบครัวอยู่ที่บ้าน

จึงอยากให้โครงการดีๆ แบบนี้ มีตลอดไป เพื่อคนพิการและผู้ดูแลที่ไม่สามารถไปทํางานที่อื่นได้ สามารถอยู่ในชนบทในบ้านเพื่อดูแลคนพิการไปด้วย แล้วคนพิการที่ไม่สามารถไปทํางานที่อื่นได้ จะได้มีงานทําอยู่ที่บ้าน ซึ่งกิจกรรมที่ผ่านมา มีการเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า เมื่อฝึกอบรมเสร็จจะได้รับมอบจักร และอุปกรณ์เกี่ยวกับการเย็บจักรไปทำงานที่บ้าน เพื่อจะต่อยอดไปได้
สำหรับในวันนี้ เป็นหลักสูตร สอนทำขนมเบเกอรี่ 9 อย่าง อาทิ ชิพฟอน คุกกี้ และแยมโรลซึ่งโครงการนี้ นับว่ามีความสำคัญกับผู้พิการเป็นอย่างมาก เพราะทําให้คนพิการมีโอกาสได้ฝึกอบรมอาชีพช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ยังมีรายได้สู่ครอบครัว ไม่เป็นภารของสังคมและประเทศชาติ อีกด้วย

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909535645

ข่าวที่น่าติดตาม