20/09/2024

กาฬสินธุ์-ตีวงแคบเช็คบิลพ่อค้าซื้อไม้พะยูงราคาต่ำติดดิน

กาฬสินธุ์-ตีวงแคบเช็คบิลพ่อค้าซื้อไม้พะยูงราคาต่ำติดดิน
ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงและการขออนุญาตตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึกกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน รับไม้จากผู้ว่าราชการจังหวัด จัดทีมตรวจสอบย้อนหลังทุกรายใน 3 อำเภอพื้นที่เกิดเหตุ ไล่เช็คบิลพ่อค้าอีสานขาใหญ่และนายทุนจีน
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการพบเหตุตัดไม้พะยูงขายในโรงเรียนและที่ราชพัสดุจำหน่ายหลายแห่ง โดยทุกแห่งเป็นการตัดไม้พะยูงโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังส่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ขณะที่นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กำลังดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันที่มีชาวบ้านผู้รักษ์และหวงแหนไม้พะยูง ส่งข้อมูลการลักลอบตัดและขออนุญาตตัดไม้พะยูงในโรงเรียน มาที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่ามีการแจ้งเหตุตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุแล้วจำนวน 12 แห่ง และมีบางอำเภอได้เรียกผู้ซื้อไม้มาสอบปากคำแล้ว ซึ่งให้การที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ซึ่งถูกกันตัวเป็นพยาน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุด วันที่ 23 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.66 ที่ผ่านมา นายณัฐ โก่งเกษร ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ได้เดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงและการขออนุญาตตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเข้าพบนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ที่ห้องปฏิบัติงาน ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ เป็นการเดินทางมาติดตามเรื่องเป็นการภายใน ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ทางจ.กาฬสินธุ์ เรียนถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ที่ กส.0018.3/15363 ลงวันที่ 6 ก.ย.66
นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าคณะตรวจสอบเชิงลึก และหัวหน้าชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้ในโรงเรียน กล่าวว่าตามที่ทาง จ.กาฬสินธุ์ โดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้มีหนังสือเรียนถึงอธิบดีกรมป่าไม้ กรณีไม้พะยูงหายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด และ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 มีหนังสือโต้ตอบกับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เรื่องการขออนุญาตตัด และให้อนุญาตตัด ในราคาที่ต่ำ ไม่เหมาะสมกับปริมาตรไม้ ตามค่าประเมินมาตรฐานของกรมป่าไม้ ทำให้เกิดความเสียภายต่อภาครัฐ
นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จ.กาฬสินธุ์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว พบว่าในขั้นตอนการประมูลขายไม้ มีการดำเนินการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นไปตามกลไกมูลค่าของไม้ การดำเนินการไม่ก่อประโยชน์กับทางราชการเท่าที่ควร ประกอบกับกรณีไม้ของกลางหายที่เทศบาลตำบลอิตื้อ จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง บ่งชี้ว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ มีการกล่าวหาพนักงานของรัฐ เข้าข่ายกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ในฐานความผิดเป็นพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือของผู้อื่นโดยสุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไป ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตัดไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน จ.กาฬสินธุ์ จึงได้นำเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นต่ออธิบดีกรมป่าไม้ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว นายธวัชชัยกล่าวในที่สุด
“อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ของนายณัฐ โก่งเกษร ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ เป็นไปตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งให้ความสนใจกรณีปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนและในที่ราชพัสดุเกิดขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์เป็นพิเศษ ซึ่งได้กำชับให้ทางจังหวัดดำเนินการแก้ไข และป้องกันปัญหาอย่างเคร่งครัด รัดกุม ให้ความเป็นธรรม พร้อมติดตามตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินคดีตามกฎหมาย ที่ขณะนี้ในส่วนคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึกระดับอำเภอ 3 อำเภอ คือ อ.ยางตลาด อ.ห้วยเม็ก และ อ.หนองกุงศรี พื้นที่เกิดเหตุ หลังจากได้รับคำสั่งจากทางจังหวัดแล้ว ก็จะได้จัดทีมลงตรวจสอบย้อนหลังอย่างเข้มข้นในลำดับต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นความเหมาะสมการขออนุญาตตัด การให้อนุญาตตัด ราคาประเมินซื้อขายที่ต่ำมาก และการติดตามไทม์ไลน์ขบวนการตัดไม้พะยูง ทั้งพ่อค้าคนไทยและชาวจีน” นายธวัชชัยกล่าวในที่สุด
ด้านนายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกนั้น ก็จะเป็นในด้านการตรวจสอบจากเอกสารทั้งหมด ตัวบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เริ่มจากสาเหตุของการขออนุญาตตัด การให้อนุญาตตัด การประเมินราคา คนที่มาประเมินราคา บุคคลที่มาเป็นคู่ทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วนอยู่แล้ว เพราะอ้างว่ามีการขอและการให้อนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่ลึกๆ เนื้อใน เป็นอย่างไร มีการหมกเม็ดอะไรกันไหม ก็ตามที่สังคมสงสัย และรับรู้รับทราบกันทั่วไป ก็จะได้ตรวจสอบ ซึ่งมองแล้วไม่ยากเลยในการติดตามตัว เพราะมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อชัดเจน แต่ที่เป็นปัญหาคือ ขณะนี้ทางฝ่ายปกครองหรือคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก ไม่สามารถเรียกตัวพ่อค้า นายทุนซื้อไม้มาสอบปากคำได้ ถึงแม้จะรู้ตัวแล้ว
นายเอกรัตน์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่าพ่อค้าคนที่มาทำสัญญาซื้อไม้กับ สพป.กาฬสินธุ์ เขต2 โดยการอนุญาตตัดของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ อ้างว่าเป็นนอมินีของพ่อค้ารายใหญ่ และยังไม่เข้ามาให้ปากคำ ซึ่งคงต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมาย อย่าง ป.ป.ช.หรือตำรวจ ที่จะได้ประสานงานในขั้นต่อไป ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกทำได้ในเบื้องต้นคือ รวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปผลต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตาม การทำงานของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก จะเริ่มดำเนินการในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะมีการตรวจสอบย้อนหลังทุกกรณีที่มีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนและในที่ราชพัสดุ ควบคู่กับการทำงานของ ปปช.หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยกันสะสางปัญหานี้ เชื่อว่าการตรวจสอบเชิงลึกครั้งนี้ จะเป็นการตีวงแคบเข้ามาว่า มีบุคคลใดในขบวนการตัดไม้ หรือมีมอดไม้กลุ่มใด ใครเป็นรายย่อย รายใหญ่บ้าง ที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงพ่อค้าอีสานขาใหญ่และนายทุนจีนด้วย